ประวัติโรงพยาบาล

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่ง

ปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร

ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่ง

ได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี

ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน

กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์


วันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2522

พระราโชบายเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

               
1. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเสด็จฯ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในทั้ง 4 ภาค
1.1 เพื่อทรงรับทราบขอบขีดความสามารถของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแต่ละแห่งว่าสามารถให้บริการสาธารณสุขถึงขอบขีดความสามารถที่กำหนดหรือไม่
และเพื่อที่จะได้นำมาพิจารณาเสริมขีดความสามารถให้ถึงระดับมาตรฐาน โดยมิใช่เป็นการก้าวก่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ
1.2 เพื่อทรงรับทราบปัญหาข้อขัดข้อง และความต้องการสิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์สูงโดยเฉพาะควรเหมาะสมกับระดับขีดความสามารถของบุคลากรในแต่ละท้องถิ่น
1.3 เพื่อพระราชทานพระราชดำริในการแก้ปัญหาประสิทธิภาพของบุคลากรและความเหมาะสมกับการรักษาพยาบาลของแต่ละท้องถิ่น
2. มีพระราชดำริที่จะสนับสนุนพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ให้มีขีดความสามารถตามมาตรฐานของโรงพยาบาลแต่ละขนาดเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่
โรงพยาบาลชุมชนอื่นๆต่อไป
3. การพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำเป็นจะต้องเน้นหนักในการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการควบคุม
กำกับการและการประเมินผลงานหากการบริหารจัดการไม่ดีถึงแม้ว่าจะทุ่มเททรัพยากรลงไปมากเท่าใดก็ตาม ผลงานที่ออกมาก็จะไม่ดีเท่าที่ควร หรืออีกนัยหนึ่งจัดสรร
ทรัพยากรในจำนวนที่เท่ากันโรงพยาบาลที่มีการบริหารจัดการดีกว่าจะมีผลงานมากกว่า
4. ในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำเป็นที่จะต้องเชิญชวนภาคเอกชนมามีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพราะงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขมีจำกัด
และมีโรงพยาบาลอื่นๆที่ต้องสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
5. การพัฒนาบุคลากรทุกประเภทของโรงพยาบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการทำงานให้เหมาะสมกับปัญหาสาธารณสุขของประชาชน
ทั้งในด้านการบริหารจัดการบริการสาธารณสุขและเทคนิควิชาการต่างๆให้ทันสมัย รวมทั้งปรับตัวของบุคลากรให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของการทำงานและสภาพสังคม
ของท้องถิ่น
6. พัฒนาบุคลากร ให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปฎิบัติงาน อาทิเช่น การใช้เครื่องมือแพทย์ หรือดัดแปลงวัสดุในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการรักษา
พยาบาล เป็นต้น
7. ในการดำเนินงานของโรงพยาบาล จำเป็นต้องสร้างสรรมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันทุกระดับทุกรูปแบบ และจัดให้มีประชาสัมพันธ์โดยสื่อมวลชน
และเครื่องมือประชาสัมพันธ์อื่นๆ
8. โรงพยาบาลควรเน้นหนักในเรื่องความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดี
9. มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งใต้ฝ่าละอองพระบาททรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ นับว่าเป็นองค์กรที่สามารถจะสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาล
สมเด็จพระยุพราชได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้สมควรที่จะปรับปรุงให้มีบทบาทมากขึ้นไป
10. สมควรจัดให้มีการประชุมพบปะปรึกษาหารือกันระหว่างคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข
และผู้บริหารงานโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกองงานในพระองค์ฯ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกัน แก้ปัญหาร่วมกัน อันจะนำไปสู่
ความร่วมมือประสานงานที่ดีต่อไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
11. ควรสร้างสิ่งจูงใจ ขวัญ กำลัง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่ง ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นตามลำดับโดยจัดให้มีการประกวด
โรงพยาบาลดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยให้มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับพระราชทานรางวัล
จากใต้ฝ่าละอองพระบาท
12. ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัยระบบงานสาธารณสุขทั้งด้านบริการ วิชาการ และบริหารเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพของระบบงานดังกล่าว ให้ดี
และเหมาะสมยิ่งขึ้นตามลำดับ

ประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรชายา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2520 คณะรัฐมนตรีได้มีดำริที่จะจัดของขวัญขึ้นน้อมเกล้าฯถวาย เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีของรัฐบาลร่วมกับบรรดาพสกนิกร
ชาวไทยทั้งมวล และได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2519 ให้จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นน้อมเกล้าฯถวายเป็นของขวัญในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อว่า
“คณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการวางโครงการจัดหาทุนในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว
ปรากฎว่าได้มีประชาชน ผู้จงรักภักดีจากทั่วประเทศพร้อมใจกันบริจาคเงิน ทรัพย์สินและที่ดิน สมทบทุนเป็นจำนวนมาก ในการที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์
และสนับสนุนให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ที่ได้จัดสร้างขึ้นสามารถบริการประชาชน ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ได้ด้วยดีตลอดไป สมควรที่จะได้นำทรัพย์สินที่ประชาชน
ร่วมกันบริจาคจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯขึ้น จึงได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 เรียกชื่อว่า “มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” โดยมีนายกรัฐมนตรี
เป็นประธานมูลนิธิ ในการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาล
สมเด็จพระยุพราชขึ้นในท้องที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จำนวน 20 แห่ง ใน 20 จังหวัด โดยสร้างขึ้นในครั้งแรกเป็นโรงพยาบาล
ขนาด 30 เตียง ในการก่อสร้างครั้งแรกใช้เงินของ “มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ทั้ง 20 แห่ง เป็นเงิน 164,462,515 บาท และได้จัดสร้างเพิ่มอีก 1 แห่งรวมเป็น
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยสนับสนุนทาง
ด้านวัตถุ กำลังเจ้าหน้าที่ และวัสดุครุภัณฑ์ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในทางการแพทย์ เป็นจำนวนเงิน 11,348,947 บาท เพื่อให้บริการแก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา ปัจจุบันนี้
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งได้เปิดให้บริการแก่ประชาชน ทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน สมทบค่าก่อสร้างใน
การขยายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นและได้มีการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ขึ้นเป็นลำดับต่อมา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร องค์นายกกิติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์
ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์และเปิดของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทั้ง 21 แห่ง
นอกจากนี้ยังทรงใฝ่พระทัยติดตามกิจการและผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอย่างสม่ำเสมอ ในปี 2529 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไป
ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1 แห่ง เพื่อทรงศึกษาปัญหาและหาแนวทางพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้มีประสิทธิภาพสามารถบริการ
ให้เป็นที่ศรัทธาของประชาชน ในปี 2530 พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้ง 21 แห่งและได้ทรงพระราชทานพระราโชบาย
12 ประการแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชต่อไป

ทำเนียบผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม

1. นายแพทย์ลือชา วนรัตน์ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2522-2524
2. นายแพทย์วีระชัย ปีตะวรรณ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2524-2525
3. นายแพทย์พิษณุ เกิดสินธุ์ชัย ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2525-2526
4. นายแพทย์สมาน ชัยสิทธ์ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2526-2533
5. นายแพทย์พรเจริญ เจียมบุญศรี ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2534- 2548
6. นายแพทย์ปัญญา อิทธิธรรมบูรณ์ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2548-2558
7. นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2558-2560
8. นายแพทย์ประเสริฐ ชัยวิรัตนะ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2560-2562
9. นายแพทย์วีระศักดิ์ ศรีชวนชื่นสกุล ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2562-2563
10. นายแพทย์ชวมัย สืบนุการณ์ ผอ.รพร.เดชอุดม 1 ต.ค.2563-2564
11. นายแพทย์สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ ผอ.รพร.เดชอุดม 1 ต.ค.2564-2565
12. แพทย์หญิงแคทรียา เทนสิทธิ์ ผอ.รพร.เดชอุดม ปี พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน

ประวัติโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม

พ.ศ.2512 เริ่มก่อตั้งสุขศาลาชั้น 2 ถนนประชา ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี
พ.ศ.2514 เลื่อนฐานะเป็นสถานีอนามัยชั้น 2
พ.ศ.2517 เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบท
เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเดชอุดม ขนาด 10 เตียง
พ.ศ.2520 เริ่มก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม ขนาด 30 เตียง สถานที่ตั้ง เลขที่ 299 ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ
จ.อุบลราชธานี เนื้อที่ 30 ไร่ ห่างจากโรงพยาบาลเดิม 2 กิโลเมตร
พ.ศ.2522 เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2522
พ.ศ.2526 ก่อสร้างและยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง
พ.ศ.2539 ก่อสร้างและยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียง
พ.ศ.2541 ได้รับอนุมัติในหลักการให้การยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 180 เตียงจากกองสาธารณสุขภูมิภาคแต่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ
พ.ศ.2543 รับรองมาตรฐาน Hospital Accreditation
พ.ศ.2545 รับรองมาตรฐาน PSO.
พ.ศ.2547 รับรองมาตรฐาน Hospital Re-Accreditation
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดมเป็นหนึ่งในยี่สิบเอ็ดแห่งของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2520 จากการที่
รัฐบาลและประชาชนได้ร่วมแรงร่วมใจจัดสร้างถวายเป็นราชสักการะแด่พลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์
เมื่อ 22 กันยายน พ.ศ.2520 ในครั้งแรกนั้นก่อสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ใช้เงินก่อสร้างทั้งสิ้น 6,602,525 บาท (หกล้านหกแสนสองพันห้า-ร้อยยี่สิบห้าบาท)
โดยรับเงินบริจาคจากบริษัท โอสถสภา (เต็กเฮงหยู) จำกัด บริษัทในเครือและสมาชิกในตระกูลโอสถานุเคราะห์ พลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงเสด็จเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 และได้ทรงพระราชทานพระราโชบาย 12 ข้อในการดำเนินงานและพัฒนาโรงพยาบาล
สมเด็จพระยุพราช เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารและห่างไกลตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดมได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมที่จะดำเนินตามพระราโชบายที่ให้ไว้ทุกประการ.